Wednesday, June 25, 2014

Gari Gari Kun ไอศกรีมหวานเย็นจากญี่ปุ่น

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปซื้อของที่ร้าน Lawson 108 
ก็ได้เห็นตู้แช่ไอศกรีมขนาดเล็กแยกต่างหากจากตู้ของวอลล์ ซึ่งเมื่อเข้าไปดูก็เห็นว่ามี Gari Gari kun มาวางขายแล้วซึ่งก็ทำให้แปลกใจไม่น้อยทีเดียว
5 รสที่ขายในไทยตอนนี้
เพราะ Gari Gari kun นั้นเป็นไอศกรีมยอดนิยมชนิดหนึ่งของคนญี่ปุ่น 
ซึ่งวางขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว
แต่ก็แน่นอนว่าไม่มีการนำเข้ามาวางขายในไทยมาก่อน

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาส ก็ได้ลองจัดมาซะ 1 แท่ง เป็นรสพีช ราคา 29 บาท

สิ่งแรกที่ประทับใจคือ ดูเหมือนจะละลายช้าดีมาก เพราะซื้อจากร้าน Lawson 108 ที่อโศกใส่กระเป๋าแล้วนั่งรถใต้ดินมาห้วยขวาง รอลิฟท์ขึ้นออฟฟิศอีกหลายนาที
ตอนแกะออกมาก็ยังคงรูปเป็นแท่งดีอยู่

สำหรับรสพีชจะมีสีชมพูอ่อน ตัวเนื้อไอศกรีมของ Gari Gari kun จะเป็นเหมือนน้ำแข็งใสอัดแท่ง คล้ายกับไอศกรีมหลอดของไทย แต่ไม่แข็งมากสามารถกัดได้สบายๆ

ด้านรสชาติจะเป็นแบบหวานอมเปรี้ยวอ่อนๆ หอมกลิ่นลูกพีช
รสชาติไม่จัดมากสามารถกินเรื่อยๆ ได้ทั้งแท่งโดยไม่รู้สึกเลี่ยน 
โดยรสชาติจะเข้มขึ้นในส่วนกลางแท่งที่เห็นเป็นสีชมพูเข้มกว่ารอบนอก คาดว่าส่วนที่เป็นน้ำหวานคงรวมกันอยู่ตรงกลาง
แถมยังละลายช้าขนาดนั่งชิวค่อยๆ กินก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะละลายให้หยดเลอะเทอะ

สำหรับผู้ที่อยากลองกินดูตอนนี้ Gari Gari kun นอกจากจะขายใน Lawson 108 แล้วยังมีอีกหลายที่เหมือนกัน เช่น อิเซตัน, UFM Fuji และที่อื่นๆ ตามภาพ
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Gari Gari kun ในประเทศไทยด้วย
garithailand.com
ซึ่งในเว็บไซต์จะมีข้อมูลประวัติของไอศกรีมและคาแรกเตอร์  Gari Gari kun, โรงงาน, สินค้าที่มีขาย และช่องทางขาย
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางโภชนาการของไอศกรีมแต่ละรสอยู่ด้วย
ตัวอย่างรสพีช

ปล. น่าเสียดายที่ไม่มีรสครีมโซดา (สีฟ้า) ขาย หวังว่าถ้าขายดีในอนาคตคงจะเอามาบ้างล่ะนะ

Tuesday, June 24, 2014

Logitech T400 Zone Touch Mouse



แม้จะเก่าไปสักหน่อยกับเมาส์ไร้สายที่วางตลาดตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ก็น่าจะเป็นเมาส์หลายคนมองหาอยู่ เนื่องจากขนาดที่ใหญ่เหมาะมือสำหรับเหล่าคนมือใหญ่ทั้งหลาย (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) ซึ่งช่วยลดปัญหาปวดข้อมือได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามคงจะขอข้ามเรื่อง Spec ทั้งหลายไปเนื่องจากเว็บ Logitech เองจะละเอียดกว่า ดังนั้นจะขอเน้นไปที่ความรู้สึกจากการใช้งานจริงเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่กำลังมองหาเมาส์ใหม่อยู่

วัสดุและการออกแบบ

ในส่วนของวัสดุ แม้จะดูเหมือนมีชิ้นส่วนที่เป็นยาง แต่ T400 เป็นพลาสติกล้วนทั้งตัว รวมถึงส่วนด้านข้างที่ทำร่องกันลื่นไว้ด้วย
แม้จะเป็นพลาสติดแต่ด้วยรูปร่างที่ลู่เข้าหาฐานทำให้สามารถจับได้ถนัดมือไม่แพ้วัสดุยางในรุ่นอื่น และในระยะยาวอาจจะดีกว่าเพราะคงไม่ลอกหรือยุบตัว (M505 ของผู้เขียนยางข้างยุบเป็นรูไปแล้ว)



สำหรับรุ่นนี้ด้านบนจะต่างจาก M600 ตรงที่ปุ่มคลิกซ้ายและขวาเป็นแบบปกติ ในขณะที่ Scroll wheel ตรงกลางจะเป็นแบบสัมผัส แต่ก็สามารถคลิกลงไปได้ด้วย
แม้ในภาพจะเห็นหมือนมีการเซาะร่องแนวขวางเอาไว้ แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงการติดสติกเกอร์เอาไว้เท่านั้น









ส่วนด้านล่างจะเป็นสวิตเปิด/ปิด ไฟบอกสถานะและช่องใส่ถ่านขนาด AA 2 ก้อน กับตัวรับสัญญาณ Unify โดยฝาปิดเป็นแบบสไลด์ออกด้านหลัง ไม่ต้องกดปลดล็อกก่อน









การใช้งาน



รูปร่างของ T400 จะแบนราบกว่าเมาส์ทั่วไปอยู่พอสมควร แต่ก็มีความยาวมากกว่าด้วย ทำให้สามารถวางมือได้อย่างสบายไม่รู้สึกว่าต้องคีบเมาส์เอาไว้เหมือนเวลาใช้ ไมโครเมาส์ที่มีขนาดเล็ก
สำหรับผู้ที่เคยชินกับเมาส์หลังนูน อาจจะต้องปรับตัวโดยวางนิ้วล้ำมาข้างหน้ามากหน่อย

แต่สิ่งสำคัญที่อาจเป็นปัญหาของ T400 คือแป้นสัมผัสตรงกลาง ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเป็นเพียงแป้นเรียบไม่มีการทำร่องหรือเล่นระดับให้แตกต่างจากปุ่มคลิกซ้ายและขวา ส่งผลให้ช่วงแรกอาจหาแป้นนี้ไม่เจอหากไม่หันมามอง แต่ใช้ไปสักพักก็จะชิน

นอกจากนี้ใช้งาน Scroll wheel ด้วยการสัมผัสอาจทำให้กะจำนวนรอบการหมุนยากกว่าแบบลูกล้อปกติ

อย่างไรก็ตามการที่เป็นระบบสัมผัสก็มีข้อดีตรงที่สามารถตั้งค่าฟังชั่นต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น การทัช 2 ครั้งที่ส่วนหน้าเพื่อ Zoom in และ 2 ครั้งที่ส่วนหลังเพื่อ Zoom out ซึ่งช่วยให้ดูหน้าเว็บหรือโปรแกรมแต่งภาพได้ง่ายและรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าอื่นๆ เพิ่มเติมได้ในโปรแกรม "SetPoint" ของ Logitech เอง ซึ่งประกอบด้วย สลับโปรแกรม, เรียก/ซ่อน Desktop และเรียก start menu

สรุป

ข้อดี

  • ใหญ่สะใจจับถนัดมือ
  • ฟังชั่นเยอะ ลดการพึ่ง keyboard
  • วัสดุ(น่าจะ)ทนดีในระยะยาว และไม่ค่อยเกิดคราบสกปรก

ข้อเสีย

  • รูปร่างแปลก บางคนอาจไม่ชิน
  • นรกสำหรับเกมส์ที่ต้องใช้ Scroll wheel อย่างแม่นยำ (zoom เข้า/ออก, เปลี่ยนอาวุธ/ไอเทม) เพราะกะรอบหมุนยากมาก
  • ตั้ง Custom ฟังชั่นสำหรับส่วนทัชไม่ได้ (ได้แค่ 3 ฟังชั่นที่มีให้)

Monday, June 23, 2014

ซัมซุงกับก้าวแรกสู่ Ergonomics Design

ซัมซุงได้เปิดตัวสินค้าใหม่ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือ Home applience (HA) ใหม่ 2 ไลน์ด้วยกัน คือ ตู้เย็น และ เครื่องซักผ้า
แน่นอนว่าด้วยความเป็นซัมซุงสินค้าทั้ง 2 ไลน์นี้ย่อมอัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมด้านอิเล็คทรอนิกส์อย่างระบบดิจิตอลอินเวอร์เตอร์ และ การสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่ครั้งนี้ คือ "ปรัชญาการออกแบบ" ที่ซัมซุงนำมาใช้

Ergonomics Design - ไม่ต้อง Smart ก็ล้ำหน้าได้

โดยซัมซุงได้เรียกแนวคิดใหม่นี้ว่า "Creating Happier Homes" หรือ การสร้างความสุขในครอบครัวให้มากขึ้น ซึ่งก็ฟังดูสวยหรูมีเอกลักษณ์ดีตามมาตรฐานการทำการตลาดของแบรนด์สินค้าในปัจจุบัน
แท้จริงแล้วปรัชญาการออกแบบใหม่ของซัมซุงนี้เรียกว่าเป็น Ergonomics Design หรือการออกแบบที่คำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก
ทั้งในด้านสรีระศาสตร์และความรวดเร็วในการใช้งาน ซึ่งเป็นปรัชญาการออกแบบที่เคยช่วยให้สินค้าญี่ปุ่นสามารถเอาชนะสินค้าจากยุโรปและอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้

ตู้เย็นสำหรับครอบครัว





เริ่มจากตู้เย็นรุ่น Food showcase ซึ่งออกแบบให้ประตูตู้เย็นด้านขวามี 2 ชั้น โดยชั้นที่ 2 จะทำหน้าที่เป็นชั้นวางน้ำหรืออาหารที่หยิบใช้บ่อย นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งชั้นเป็น cheese case สำหรับเก็บชีส, sauce case สำหรับขวดซอส, drink case สำหรับใส่ขวดน้ำดื่ม, snack case และ kid's case สำหรับใส่อาหารว่าง
โดย snack case และ kid's case จะอยู่ด้านล่างเพื่อให้เด็กหยิบได้ง่าย


ซักผ้าแบบไม่ยุ่งยาก


ด้านเครื่องซักผ้าเงอก็มีหลายจุดที่ออกแบบได้น่าสนใจ เช่น การใช้จอสัมผัสขนาด 5 นิ้ว ในการสั่งงานเครื่อง พร้อมทั้งใช้ UI ที่เน้นภาพ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจคำสั่งต่างๆ ได้ง่าย
รวมถึงการออกแบบให้มีถังเก็บน้ำยาปรับผ้านุ่มในตัวเครื่อง ช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องตวงและใส่น้ำยาทุกครั้ง โดยเครื่องจะชั่งน้ำหนักและคำนวณปริมาณน้ำยาโดยอัตโนมัติ





นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความสูงและความกว้างของถังซักและเพิ่มองศาของบานสวิงซึ่งช่วยให้ใส่ผ้าได้สะดวกขึ้น





เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดนี้ เป็นลักษณะของการออกแบบที่มี gimmick เล็กน้อยๆ ซึ่งไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีแปลกใหม่ แต่กลับช่วยให้ผู้ใช้งานใช้งานสินค้าได้ง่ายขึ้นมาก
น่าจับตาดูว่าซัมซุงจะขยายปรัชญาการออกแบบนี้ไปยังสินค้าอื่นอีกหรือไม่

Tuesday, June 17, 2014

เรื่องมันๆ ของมันฝรั่งทอด

เมื่อเดือนที่ผ่านมาเหตุการณ์ แป้งในโยเกิร์ตและนม ได้สร้างความตื่นตัว(และตื่นตระหนก) ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยไปไม่น้อย ซึ่งยังดีที่สุดได้มีผู้เกี่ยวข้องในวงการอุสาหกรรมอาหารออกมาอธิบายถึงข้อเท็จจริงกันเป็นที่เรียบร้อยในกระทู้ "ข้อเท็จจริงเรื่องภาพการทดสอบแป้งในโยเกิร์ต"
แต่นอกจากโยเกิร์ตและนมแล้ว ยังมีของกินอีกหลายประเภทที่มีการผสม "แป้ง" เพิ่มเติมเข้าไปนอกเหนือจากวัตถุดิบหลัก หนึ่งในนั้นก็คือ "มันฝรั่งทอด"

มันฝรั่งทอดหรือ Potato chip เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมของผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรม ด้วยความหอมและกรอบของแผ่นมันฝรั่งบางๆ ที่ได้รับการปรุงรสอย่างเข้มข้น ทำให้หลายครั้งก็รู้สึกอร่อยจนหยุดไม่ได้

โดยมันฝรั่งทอดที่เรากินกันบ่อยๆ นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลัก ซึ่งจะขอเรียกง่ายๆ ว่าเป็น แบบเลย์ และแบบพริงเกิลส์

มันฝรั่งทอดแบบ เลย์ นั้น จะผลิตโดยการเอาหัวมันฝรั่งมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ด้วยเครื่องจักร จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการทอด, ปรุงรสและบรรจุลงห่อ

ส่วนแบบ พริงเกิล แม้จะได้ชื่อว่าเป็นมันฝรั่งทอด แต่น่าแปลกใจที่วัตถุดิบของพริงเกิลไม่ได้มีแค่มันฝรั่งทอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแป้งข้าวสาลีและแป้งข้าวเจ้ารวมอยู่ด้วย โดยเทียบเป็นสัดส่วนแล้วมีมันฝรั่งอยู่ประมาณ 42-50%

แต่! ทั้งนี้อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าเป็นนี่เป็นการลดต้นทุนหรือหลอกลวงผู้บริโภค การที่มันฝรั่งทอดแบบพริงเกิลส์มีแป้งเป็นส่วนผสมนั้นแท้จริงแล้วเป็นรูปแบบหนึ่งของนวัตกรรมด้านอาหาร

มัน คือจุดอ่อน

เดิมทีมันฝรั่งทอดแบบเลย์ที่ทำจากเนื้อมันล้วนๆ มีจุดอ่อนอยู่ 3 ประการ นั่นคือ ความแข็ง, ความมันและการการขนส่ง
ในเรื่องของความแข็งนั้น เนื่องจากว่าแม้มันฝรั่งทอดแบบแผ่นจะมีมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1895 หรือ พ.ศ. 2438 แต่กว่าจะมีเทคโนโลยีการปรุงรสแบบที่เราคุ้นเคยนั้นต้องรอจนถึงช่วงปี 1950 หรือพ.ศ. 2493
การกินมันฝรั่งทอดในยุคแรกจึงอาศัยการจิ้มกับซอสชนิดต่างๆ ซึ่งมีทั้งซอสมะเขือเทศ, มันบด, ชีสและแน่นอนว่าซาวน์ครีมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ด้วยการที่ซอสหลายสูตรมีการใส่ผักและเนื้อลงไปทำให้น้ำซอสมีน้ำหนักมากจนแผ่นมันฝรั่งมักจะหักติดอยู่ในกองซอส ซึ่งก็สร้างความรำคาญให้คนกินได้พอสมควร
ปัญหาต่อมาก็คือ ความมัน เนื่องจากเนื้อมันฝรั่งทอดอุ้มน้ำมันมาก ทำให้มือที่ใช้หยิบชิ้นมันฝรั่งชุ่มไปด้วยน้ำซึ่งก็จะไปเปรอะเปื้อนของอย่างอื่นต่อ เช่น รีโมททีวี, หนังสือ, เสื้อผ้า, ลูกบิดประตู, ตู้เย็นและอื่นๆ
ปัญหาสุดท้ายจะเกี่ยวกับผู้ผลิตมากกว่า นั่นคือการขนส่ง ซึ่งด้วยความบางและขนาดที่ไม่เท่ากัน มันฝรั่งทอดจึงต้องใส่ในถุงและอัดด้วยก๊าซไนโตรเจนเพื่อไม่ให้แตกหักและเหม็นหืน
แต่รูปแบบการบรรจุนี้ก็ทำให้กินพื้นที่ในการขนส่งไปด้วยเช่นกัน

แก้ไม่ไหว ทำใหม่ก็ได้

ใน (ปีค.ศ. 1960s) บริษัท P&G ต้องการจะรุกเข้าสู่ตลาดมันฝรั่งทอดจึงเห็นโอกาสที่จะใช้การแก้ปัญหาดังกล่าวมาสร้างความแตกต่างให้สินค้าของตน
โดยวิธีการที่ P&G ใช้ก็คือ การนำมันฝรั่งไปแปรรูปด้วยการบดและทำให้แห้งเป็นผงคล้ายแป้ง จากนั้นจึงนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ เช่น แป้งข้าวโพด, แป้งสาลี, แป้งข้าวเจ้า, เกลือและเครื่องปรุงอื่นๆ คล้ายกับการทำขนมปัง
ซึ่งก้อนแป้งมันที่ได้จะถูกตัดเป็นแผ่นเท่าๆ กันแล้วจึงนำไปทอด



ด้วยวิธีนี้มันฝรั่งทอดแบบพริงเกิลส์จึงมีแผ่นที่หนา ไม่อมน้ำมันและมีขนาดเท่ากันทั้งหมดช่วยให้สามารถจัดเรียงใส่ท่อในแนวตั้งได้ซึ่งนอกจากจะประหยัดเนื้อที่แล้ว
ยังสามารถปิดฝาเพื่อเก็บไว้กินต่อทีหลังได้ด้วย
โดย P&G ได้วางจำหน่ายมันฝรั่งทอดแบบใหม่นี้ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2511) และเริ่มส่งออกในอีก 8 ปีต่อมา

เกล็ดเล็กเกล็ดน้อย

1. พริงเกิลส์เรียกได้ว่ามีผู้คิดค้น 2 คน คือ Fredric Baur เป็นผู้พัฒนาวิธีผลิต, ออกแบบรูปร่างแผ่นมันทอดรวมถึงกระบอกบรรจุในปี 1956-1958 แต่ไม่สามารถพัฒนารสชาติให้ลงตัวได้ ต่อมาในปี 1960 Alexander Liepa จึงนำโครงการของ Fredric Baur มาปัดฝุ่นโดยพัฒนารสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคมากพอจนสามารถออกขายได้
2. Fredric J. Baur. ผู้คิดค้นกระบอกใส่พริงเกิลส์ ภูมิใจในการคิดค้นครั้งนี้มากจนขอให้ฝังเถ้ากระดูกของตนในกระบอกพริงเกิลส์ ซึ่งญาติๆของเขาจัดให้ตามที่ต้องการเมื่อเขาเสียชีวิตในปี 2008
3. หลังจากวางขายในปี 1967 พริงเกิลส์มียอดขายย่ำแย่จน P&G เกือบยกเลิกการผลิต แต่การปรับปรุงรสชาติและแคมเปญการตลาด “Fever for the Flavor of Pringles” ในปี 1980 ได้ช่วยพลิกสถานการณ์ไว้
4. ในบางประเทศเช่น อังกฤษ จะถือว่าพริงเกิลส์ไม่ใช่มันฝรั่งทอดกรอบ เนื่องจากศาลสูงประเทศอังกฤษได้พิพากษให้ "พริงเกิ้ลส์" ไม่ใช่มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ แต่จัดอยู่ในกลุ่มขนมปังและเค้กเนื่องจากมีมันฝรั่งเป็นส่วนผสมเพียง 42% ส่งผลให้ไม่ต้องถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 17.5%